
จากแขกผู้ชื่นชอบ สู่เจ้าบ้านมือใหม่ ประสบการณ์ลองทำ Airbnb ครั้งแรก
ต้องบอกก่อนเลยครับว่าผมเป็นแฟนตัวยงของ Airbnb แบบเข้าเส้น ทุกครั้งที่มีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศ การได้พักใน Airbnb คือสิ่งที่ช่วยเติมเต็มทริปให้พิเศษขึ้นเสมอ ไม่ว่าจะเป็นทำเลแปลกใหม่ การได้เจอกับโฮสต์ท้องถิ่นที่อบอุ่น หรือบ้านที่มีสไตล์เฉพาะตัว มันคือประสบการณ์ที่โรงแรมหรือโฮสเทลให้ไม่ได้จริงๆ
จนกระทั่งวันหนึ่ง ได้มีโอกาสเยี่ยมชม สำนักงานใหญ่ของ Airbnb ที่ซานฟรานซิสโก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจมาก เขาพาเดินชมรอบออฟฟิศ เล่าถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดธุรกิจ และการเติบโตอย่างยั่งยืน ฟังแล้วอินมาก ก็เลยตัดสินใจ “ลองทำดูบ้าง!”
Reality Check: การเป็นโฮสต์ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด
หลังจากเปิดให้ต่างชาติเข้าพักจริงๆ ความท้าทายก็โผล่มาทันที!
- แขกหลายคนมองว่า Airbnb ก็เหมือนโรงแรม จึงคาดหวังการบริการแบบครบเครื่อง: ตอบแชตด่วน, ขอของใช้เพิ่ม, สอบถามการเดินทาง ฯลฯ
- ต้อง ออนไลน์แทบ 24 ชม. โดยเฉพาะช่วงเช็คอิน/เช็คเอาท์ ถ้าใครไม่ได้รักงานบริการแบบจริงจัง บอกเลยว่าเหนื่อยแน่
- ต้องพร้อมแก้ไขปัญหาและรับมือความเสียหาย เช่น ฝักบัวหัก ปลั๊กไหม้ ก๊อกน้ำหลุด หรือแม้แต่รีโมตหายก็มี
สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้: กฎหมายไทยกับ Airbnb ยังไม่เคลียร์ 100%
แม้ Airbnb จะได้รับความนิยมมากขึ้นในไทย แต่ ข้อกฎหมายเกี่ยวกับการให้เช่าที่พักระยะสั้น ยังถือว่าเป็น “พื้นที่สีเทา” โดยเฉพาะในเขตเมืองหรือพื้นที่ท่องเที่ยว เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ฯลฯ
- กฎหมายโรงแรมในไทยระบุว่า หากที่พักเปิดให้เช่ารายวัน ต้องมี ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม แต่ก็จะมีข้อยกเว้นกรณีให้เช่าไม่เกินกี่ห้องอะไรนี่แหละ อาจจะต้องศึกษาดูเพิ่มเติม
- นอกจากนี้ ถ้ารับ แขกชาวต่างชาติ ต้องดำเนินการตาม พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง คือ
🔸 รายงานบุคคลต่างด้าวเข้าพักภายใน 24 ชม. ผ่านระบบออนไลน์ หรือแจ้งต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
🔸 ถ้าไม่แจ้ง อาจมีโทษปรับ คือจะรับเข้ามาพักสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ต้องรายงานทุกครั้ง
ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่ผมเองก็ ไม่เคยรู้มาก่อน จนกระทั่งเจอจริงแล้วต้องรีบศึกษาย้อนหลัง
เบื้องหลังห้องพักที่ดี: บริการด้วยใจ + พร้อมรับความยุ่ง
นอกจากเรื่องกฎหมายแล้ว ยังต้องเตรียมอีกสารพัดครับ:
- ความสะอาดต้องดีเยี่ยม รีวิวดีก็อยู่รอด และช่วงที่แขกพักอยู่ อย่าไปมีข้อต่อล้อต่อเถียงหรืออะไรมาก
- ข้อมูลรอบที่พัก เช่น ร้านอาหาร การเดินทาง จุดเช็คอิน ต้องให้ครบ
- เครื่องใช้ทุกชิ้นต้องมีป้าย/คู่มือวิธีใช้ ไม่งั้นอาจเสียหายจนซ่อมไม่ทัน
- คิดเรื่อง “ต้นทุนซ่อนเร้น” ทั้งค่าทำความสะอาด ค่าซ่อมบำรุง ค่าแม่บ้าน ค่าเสียเวลา ฯลฯ
ถ้าตั้งราคาถูกมากเพื่อดึงลูกค้า ก็แทบไม่เหลือกำไร ต้องบาลานซ์ให้ดี
สรุป: ถ้าใจรัก ก็ทำเลย แต่ถ้ายังไม่พร้อม… พักก่อนก็ได้
สิ่งที่ได้จากประสบการณ์นี้คือ… การเป็นโฮสต์ Airbnb ไม่ใช่แค่ปล่อยห้องแล้วรอเงินเข้า มันต้องทั้งใส่ใจ ทุ่มเท และเข้าใจระบบต่างๆ ทั้งหน้าบ้านและหลังบ้าน โดยเฉพาะเรื่องข้อกฎหมายในไทยที่ยังต้องศึกษาให้ดี
แต่ถ้าคุณมีเวลา มีห้องว่าง ไม่คาดหวังสูง และอยากพบเจอผู้คนใหม่ๆ จากทั่วโลก – Airbnb ก็เป็นประตูแห่งมิตรภาพที่อบอุ่นครับ